ปัญหาขนมไหม้ เนื้อเค้กไม่ขึ้นฟู เค้กแข็งหรือสุกแต่ข้างนอก คือสิ่งที่ผู้ทำขนมอบประเภทเบเกอรี่หลายคนเจอ เพราะเกิดจากความไม่แม่นยำในเรื่องของอุณหภูมิในการอบซึ่งการควบคุมอุณหภูมิของเตาอบ ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ขนมออกมามีความสมบูรณ์แบบที่สุด เพราะตัวเลขที่คลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อยอาจจะทำให้เมนูที่คุณทำพังไม่เป็นท่าเพื่อช่วยให้ขนมของคุณน่ารับประทาน รูปลักษณ์ภายนอกดูดีน่าดึงดูดเรามีเคล็ดลับในการอบให้เนื้อขนม นุ่ม ฟูและอร่อยมาฝากกัน
1. วอร์มเตาก่อนอบ 15-20 นาที
หรือจนได้อุณหภูมิที่ต้องการเป็นขั้นตอนแรกของการอบขนม ซึ่งมีความจำเป็น เพราะหากไม่วอร์มเตาก่อนอบ จะทำให้ผิวของขนมอบไม่แห้งสนิท หรือเค้กฟูไม่เต็มที่ เมื่อวอร์มเตาอบจนได้อุณหภูมิที่ต้องการ จึงค่อยวางขนมเข้าไปในเตา โดยก่อนใช้งานเตาอบครั้งแรกและหลังใช้งานเตาอบทุกครั้ง ควรเปิดเครื่องโดยใช้โปรแกรมไฟบนและไฟล่าง ปรับอุณหภูมิที่ 200 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ความร้อนจะทำการเผาไหม้คราบไขมันและเศษอาหารที่ติดผนังด้านข้างให้ตกลงสู่ถาดล่างของเตาอบ จากนั้นให้นำถาดรองทั้งด้านบนและล่างออกมาทำความสะอาด
2. การใช้ไฟบน-ล่าง
- การอบคุกกี้ บราวนี่ คัพเค้กโดยทั่วไปจะใช้ไฟบน-ล่าง เพื่อทำให้ชิ้นขนมสุกทั่วทั้งชิ้น
- การอบเค้ก ควรใช้ไฟล่างเพียงอย่างเดียวก่อนในช่วงแรก เพราะจะทำให้ขนมไม่แตกตรงกลาง แต่ถ้าใช้ไฟล่างแล้วหน้าขนมสีซีดเกินไป สามารถปรับเป็นไฟบน-ล่าง หรือไฟบนอย่างเดียวในช่วงท้ายของการอบได้
- การอบขนมปังที่เรียงใส่ถาด จะใช้ไฟบน-ล่าง แต่ถ้าอยู่ในพิมพ์จะใช้ไฟล่างอย่างเดียว ระหว่างการอบขนม ไม่ควรเปิดเตาบ่อยๆ เพราะจะทำให้เตาอบสูญเสียความร้อน ควรอบจนกว่าขนมจะมีโครงสร้างที่ดี ไม่เช่นนั้นจะทำให้ขนมยุบและไม่ขึ้นฟู และ เคล็ดลับสำคัญในการอบขนมปัง คือ นมข้นจืด เนื่องจากนมข้นจืดมีคุณสมบัติในการให้สีของขนมปัง โดยการนำนมข้นจืด 1 ส่วน ผสมน้ำ 1 ส่วนแล้วทาที่หน้าขนมปังหลังจากนำออกจากเตาอบจะทำให้ผิวขนมปังที่ได้มีสีสวย เงา ดูน่ารับประทาน
3. เลือกใช้พิมพ์ในการอบ
พิมพ์สำหรับอบขนมมีหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นขนาด วัสดุและรูปทรงต่างๆ ซึ่งสามารถเลือกใช้ได้ตามประเภทของขนม
- พิมพ์กลม เหมาะสำหรับเบเกอรี่ก้อนใหญ่ ประเภทปอนด์ เช่น สปันจ์เค้ก ชิฟฟ่อนเค้ก และควรใส่ส่วนผสมประมาณ 2/3 ของพิมพ์ เพื่อให้มีพื้นที่ให้ตัวเค้กขึ้นฟูหลังจากอบเสร็จ แต่ถ้าใส่ส่วนผสมเพียงครึ่งนึงของพิมพ์ ก็จะได้เค้กที่เตี้ยหน่อย แต่ก็จะสามารถอบได้สุกไวกว่านั่นเอง
- พิมพ์โลฟ (Loaf) เหมาะสำหรับเบเกอรี่ประเภทขนมปังต่างๆ และควรทาไขมันรอบพิมพ์ทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เนื้อขนมติดพิมพ์ ส่วนพิมพ์จีบหรือพิมพ์ถาดหลุม เหมาะกับขนมประเภทคัพเค้ก มัฟฟิน โดยให้วางเรียงไว้บนถาด แต่ไม่ควรวางชิดติดกันเกินไป เพราะขนมจะสุกไม่ทั่วถึง
4. เคาะถาดเพื่อไล่ฟองอากาศ
เพื่อให้ขนมมีเนื้อสัมผัสที่สมบูรณ์ หลังจากเตรียมส่วนผสมแป้งใส่ถาดก่อนนำไปเข้าเตาอบ ให้เคาะถาดหรือพิมพ์ประมาณ 2-3 ครั้ง เพื่อไล่ฟองอากาศออกจากเนื้อแป้ง เพราะจะช่วยทำให้อบขนมได้อย่างทั่วถึง โดยวิธีเช็คความสุกของขนม ให้ใช้ไม้จิ้มตรงกลางเค้ก หากไม่มีเนื้อเค้กที่เป็นน้ำๆ ติดไม้ขึ้นมา แสดงว่าขนมสุก
5. การอบรองน้ำ
คือการนำถาดหรือพิมพ์ขนมที่จะอบไปวางไว้ในถาดที่ใส่น้ำไว้ เพื่อป้องกันก้นขนมไหม้ ใช้สำหรับขนมบางประเภทที่ต้องการรักษาลักษณะของส่วนที่อยู่ก้นถาดไว้ เช่น เค้กสังขยา คัสตาร์ดเค้ก เป็นต้น แต่การอบรองน้ำจะส่งผลให้หน้าขนมแฉะได้ ซึ่งการอบแบบนี้ไม่เหมาะกับขนมบางชนิด อาทิ บัตเตอร์เค้ก เพราะอาจทำให้เนื้อขนมด้าน หรือแตกตรงกลางได้
อุณหภูมิที่เหมาะสมในการอบขนมแต่ละชนิด
ชนิดของขนม | อุณหภูมิที่ใช้ในการอบ (ฟาเรนไฮต์) |
อุณหภูมิที่ใช้ในการอบ (เซลเซียส) |
เวลาที่ใช้อบ (นาที) |
---|---|---|---|
คุกกี้ | 300-350 | 150-180 | 15-20 |
เมอแรงค์ | 200-250 | 100-120 | 60-90 |
เอแคลร์ | 400-420 | 200-210 | 12 |
พาย | 400-420 | 200-210 | 15-20 |
ขนมปัง(ใส่ถาด) | 400-420 | 200-210 | ไม่เกิน 15 |
ขนมปัง (ใส่พิมพ์) | 350-375 | 180-190 | 20-30 |
บราวนี่ | 350-375 | 180-190 | 25-30 |
ชีสเค้ก | 300-350 | 150-180 | 60-90 |
สปันจ์เค้ก | 350-400 | 180-200 | 30-40 |
ชิฟฟ่อนเค้ก | 325-350 | 160-180 | 30-40 |
เค้กม้วน/โรล | 350-400 | 180-200 | 7-10 |
เค้กปอนด์ | 300-350 | 150-180 | 40-60 |
เค้กผลไม้ | 300-350 | 150-180 | 60-100 |
คัพเค้ก | 350-375 | 180-190 | 20-25 |
**ถ้าอุณหภูมิมากกว่า 200 องศาเซลเซียส หรือ 400 องศาฟาเรนไฮต์ แสดงว่าเป็นขนมที่อบทั้งไฟบน-ไฟล่าง แต่ถ้าต่ำกว่า แสดงว่าเป็นขนมที่อบไฟล่างอย่างเดียว**
นอกจากวัตถุดิบที่คัดสรรมาอย่างดี มีคุณภาพและขั้นตอนวิธีการทำที่ถูกต้องแล้ว อุณหภูมิในการอบก็ถือเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ที่จะช่วยทำให้ขนมของคุณมีหน้าตาและสีสันชวนรับประทานโดยเฉพาะเคล็ดลับการเลือกใช้นมข้นจืดในการทำเบเกอรี่ เพราะส่วนผสมจากนม จะทำให้เนื้อสัมผัสเข้มข้น ช่วยให้เบเกอรี่มีเนื้อเนียน ละเอียด ฟู ให้กลิ่นหอมนม ช่วยให้สีสันของเบเกอรี่น่ารับประทานยิ่งขึ้น และที่สำคัญช่วยประหยัดต้นทุนแต่ยังได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพช่วยให้เบเกอรี่ของคุณหอม นุ่ม อร่อย ครั้งต่อไปถ้าลงมือทำเบเกอรี่ อย่าลืมเอาเคล็ด(ไม่)ลับ ที่เรานำมาฝากไปใช้ในการทำเบเกอรี่ด้วยนะคะ